Friday, April 18, 2008

แถลงการณ์กรณีคบเพลิงโอลิมปิควิ่งผ่านกรุงเทพฯ

สมานฉันท์เพื่อประชาชนทิเบต – “หนึ่งโลก หนึ่งสันติภาพ”

(กรุงเทพฯ, 19 เมษายน 2551) พวกเราองค์กรนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน ภายใต้องค์กรข้างล่างได้ร่วมกันชุมนุมอย่างสันติในวันนี้โอกาสที่คบเพลิงโอลิมปิคได้วิ่งผ่านกรุงเทพฯ ขอแสดงความสมานฉันท์ให้กับประชาชนทิเบตที่เรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่ได้รับการปราบปราบ สังหาร และจับกุมอย่างทารุณในเดือนที่ผ่านมา

ทางเครือข่ายขอประนามรัฐบาลจีนในสังหาร คุมขัง ทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนทิเบต ข้อมูลจากศูนย์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ประจำ ณ เมืองธรรมาศาลา ประเทศอินเดียได้รายงานว่าหลังจากการมีการปราบการชุมนุมของประชาชนในทิเบต มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140 คน และมีผู้ได้รับการคุมขังประมาณ 2,300 คน

ทางเครือข่ายไม่ได้มีจุดยืนในการบอยคอตหรือต่อต้านการจัดกีฬาโอลิมปิด แต่เห็นว่ารัฐบาลจีนในฐานะที่โอลิมปิคซึ่งเป็นกีฬาแห่งมนุษชาติและเป็นกีฬาเพื่อ “สันติภาพ เสรีภาพ ความสมานฉันท์ และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ตามที่กฎบัตรของโอลิมปิคว่าไว้ เราจึงขอแสดงจุดยืนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่รักสันติและมนุษยชาติว่ารัฐบาลจีนควรจะเคารพหลักการของโอลิมปิค ไม่ใช่ว่าจะละเมิดเสียเอง

นอกจากนี้เครือข่ายจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้:

(1) เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของประชาชนทั่วโลก เราเรียกร้องให้รัฐบาลจีนและคณะกรรมการโอลิมปิคยกเลิกการที่จะมีการวิ่งคบเพลิงในกรุงลาซา เนื่องจากเรากังวลว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก หลังจากที่ผู้ว่าการทิเบตได้ออกมากล่าวว่าจะมีการปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง “ให้ถึงที่สุด”

(2) รัฐบาลจีนต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพแข็งขันกีฬาโอลิมปิคและการที่รัฐบาลจีนได้ใช้โอลิมปิคเป็นการสร้างภาพว่ามีพัฒนาการทางด้านสิทธิมนุษยชน และการที่รัฐบาลจีนเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ รัฐบาลจีนไม่ควรทำให้การแข็งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้เป็นโอลิมปิค “เปื้อนเลือด”

(3)เราสนับสนุนขอเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคที่เรียกร้องให้มีการส่งคณะผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนเข้าไปในทิเบต เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสรุปจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกคุมขัง และให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลจีน

(4) รัฐบาลจีนต้องเปิดให้มีการเจรจาอีกครั้งกับรัฐบาลผลัดถิ่นของทิเบตนำโดยองค์ดาไล ลามะในทันทีเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนโยบายทางการเมืองต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนทิเบตเป็นชายขอบทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคม

(5) รัฐบาลจีนต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานในประเทศ รวมถึงเรียกร้องไปถึงคณะกรรมการโอลิมปิคที่ยุติการสนับสนุนบรรษัทผลิตสินค้าโอลิมปิคที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส

(6) ท้ายที่สุด เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศและยุติการสนับสนุนประเทศที่มีรัฐบาลเป็นเผด็จการ เช่น กรณีรัฐบาลจีนส่งอาวุธไปให้รัฐบาลซูดานในการเข่นฆ่าประชาชนตัวเอง[i] และให้การสนับสนุนกับรัฐบาลพม่า[ii]


เราเชื่อมั่นในสันติภาพและเสรีภาพของประชาชน

ด้วยความสมานฉันท์
:

เครือข่ายทิเบตเสรี

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์
กลุ่มสังคมวิจารณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป.)

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

เครือข่ายนานาชาติพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม(INEB)

Students for a Free Tibet (SFT)


ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
:

นุ่มนวล ยัพราช – 081 583 3713

อนุธีร์ – 081 171 3370

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ – 086 603 8844


[i] ปัจจุบันในซูดานมีประชาชนเสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองไปมากกว่าสองแสนคน และมีผู้ผลัดถิ่นหลายหมื่นคน

[ii] ในพม่าปีที่แล้วมีการปราบผู้ชุมนุมคล้ายกับทิเบตทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 31 คน ตามรายงานของสหประชาชาติ แม้ว่าทางองค์กรสิทธิมนุษยชนจะคาดการว่ามีจำนวนสูงมากกว่าร้อยคน และมีการคุมขังนักโทษทางการเมืองหลายพันคนรวมถึงนางออง ซาน ซู จีผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติและเจ้าของรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ

No comments: